สารประกอบฮาลอนเป็นสารประกอบซึ่งประกอบด้วยอะตอมธาตุจากฮาลอน (Halogen Series) ตั้งแต่หนึ่งอะตอมขึ้นไป ธาตุเหล่านี้ได้แก่ ฟลูออรีน คลอรีน โบรมีนและไอโอดีน คำว่าฮาลอนนี้เป็นคำย่อมาจาก Haloginated hydrocarbon สารประกอบที่เคยนำมาใช้เป็นสารดับเพลิงกันมากในอดีตมีอยู่ 5 ชนิด คือ
- Halon 1011 (Bromochloromethane CH₂BrCl)
- Halon 1211 (Bromochlorodifluoromethane CBrClF₂)
- Halon 1202 (Dibromodifluoromethane CBr₂F₂)
- Halon 1301 (Bromotrifluoromethane CBrF₃)
- Halon 2402 (Dibromotetrafluoroethane CBrF₂CBrF₂)
สารประกอบฮาลอนจัดเป็นก๊าซดับเพลิงที่ “สะอาด” โดยปรกติจะเก็บไว้ในถังอัดความดันซึ่งจะทำให้อยู่ในสภาวะของเหลว เมื่อฉีดเข้าไปในห้องก็จะแปรสภาพไปเป็นก๊าซหลังจากดับไฟแล้วจะไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ หรือทำความเสียหายให้กับบริเวณนั้นดังเช่นการใช้น้ำหรือโฟมเป็นสารดับเพลิงในอดีตก๊าซฮาลอน 1301 ถูกนำมาใช้เป็นสารดับเพลิงสะอาดกันมากที่สุด ทั้งนี้เพราะเป็นก๊าซที่มีอันตรายต่อมนุษย์น้อยมาก แต่เนื่องจากฮาลอน 1301 เป็นสารเคมีอยู่กลุ่มประเภท CFC (Chlorofluorocarbon) ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกอยู่สูงมากศักยภาพในการทำลายโอโซนของฮาลอน 1301 มีค่าเท่ากับ 10 (เปรียบเทียบกับสารทำความเย็น R-12 มีศักยภาพในการทำลายโอโซนเท่ากับ 1) อันจะมีผลให้พื้นผิวโลกได้รับรังสีอุลตราไวโอเล็ตบีจากแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การประชุมนานาชาติซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กรสหประชาชาติได้มีการพิจารณาถึงพิษภัยของสารประเภท CFC และได้มีการเซ็นสนธิสัญญาเพื่อค่อยๆ ลดการใช้สารประเภท CFC ต่างๆ ลง จนกระทั่งเลิกใช้ในที่สุด สำหรับก๊าซฮาลอล 1301 นั้นได้มีการตกลงที่จะลดเลิกการใช้งานตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2537 เป็นต้นไป สำหรับสารดับเพลิงสะอาดซึ่งใช้ทดแทนได้ชนิดอื่นๆ สามารถดูจากรายการ NFPA 2001
ชนิดของไฟซึ่งเกิดจากเชื้อเพลิงที่สารสะอาดเหล่านี้ดับได้ สามารถแบ่งออกตาม NFPA ได้มีอยู่ 3 Class คือ
เพลิง Class A : เกิดจากการเผาไหม้บริเวณผิวของสารที่มีคาร์บอนทั่วไป เช่น ไม้ กระดาษ ผ้า
เพลิง Class B : เกิดจากการเผาไหม้ของเหลวที่ติดไฟได้ เช่น น้ำมัน ทินเนอร์ ก๊าซไวไฟ
เพลิง Class C : เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ไฟลัดวงจร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของศูนย์โทรคมนาคม ห้องคอมพิวเตอร์ และใช้สารดับเพลิงที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า
ในคู่มือนี้กล่าวถึงสารดับเพลิงสะอาด N₂ ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนสารฮาลอน 1301 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตลอดจนบรรยายถึงวิธีการคำนวณออกแบบ N₂
รายละเอียด: คู่มือออกแบบระบบดับเพลิงก๊าซไนโตรเจน N₂ สำหรับวิศวกร – ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วริทธิ์ อึ้งภากรณ์